02-538-9089 (จ.-ส. 9-18 น.)

กฎหมายก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท แก้ไขล่าสุด เข้าใจง่าย👨‍⚖️

29 มี.ค. 24

กฏหมายก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท

         

          บทความนี้ RoomScope จะมาสรุปกฎหมายการขอก่อสร้าง ดัดแปลง หรือการเปลี่ยนอาคารเพื่อใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ฉบับล่าสุด 2566 แบบภาษาชาวบ้าน เข้าใจง่ายๆ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยสนับสนุนให้เจ้าของ หรือผู้ที่สนใจลงทุนสร้างที่พักขนาดเล็ก หรือนำบ้านเก่า อาคารเก่ามาปรับปรุงเป็นที่พัก ให้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ถูกต้องตามกฎหมายง่ายขึ้น รวมถึงหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตสำหรับสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมด้วย

          เนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมการท่องเที่ยวคนเราเปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนหลายๆ ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชอบเที่ยวแบบหรูหรา อยู่สบาย อาหารการกินต้องพร้อม สิ่งอำนวยความสะดวกต้องครบ แต่ปัจจุบันนิยมการท่องเที่ยว และพักผ่อนที่เรียบง่ายมากขึ้น ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จากต้องนอนโรงแรมในอาคาร หรือรีสอร์ทหรูๆ ที่เพียบพร้อม มาเป็นแนวบูติค รีสอร์ท ที่นำอาคารเก่า บ้านเก่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มาปรับปรุง ให้ดูทันสมัย น่าพักผ่อน หรือจะเป็นเต็นท์ กระโจม โดม แนวแคมป์ปิ้ง รถบ้าน ตู้รถ ก็มี จึงทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับปรุงกฎหมายบางส่วนเพื่อจะให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น

          ก่อนอื่นขอกล่าวถึงความหมาย และนิยามของโรงแรม หรืออาคารที่สามารถนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ดังต่อไปนี้

  1. โรงแรม หมายถึง สถานที่ประกอบธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับผู้เดินทาง หรือนักท่องเที่ยวที่มาพักแรมเป็นการชั่วคราว โดยมีค่าตอบแทนให้ โดยโรงแรมอาจมีบริการในส่วนของอาหาร และเครื่องดื่ม หรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ประเภทโรงแรม
    ในที่นี้ยังรวมถึงการนำอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามความหมายว่าด้วยธุรกิจโรงแรม
     
  2. ห้องพัก หมายถึง ห้องพักของโรงแรมที่จัดทำไว้ เพื่อประโยชน์ในการพักอาศัยเป็นการชั่วคราวของผู้เข้าพัก
     
  3. ห้องพักรวม หมายถึง ห้องพัก และบริเวณพื้นที่ของโรงแรม ที่มีผู้เข้าพักตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยคิดค่าบริการรายคน และมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ โถงทางเดิน เป็นต้น
     
  4. อาคารลักษณะพิเศษ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นที่บุคคลอาจจะเข้าอยู่ หรือเข้าใช้สอยได้ เพื่อใช้เป็นโรงแรม มีลักษณะ แบบ รูปทรง สัดส่วน ขนาด หรือเนื้อที่ ที่แตกต่างจากอาคารที่ใช้อยู่อาศัย หรือใช้สอยตามปกติทั่วไป

อาคารลักษณะพิเศษ ที่สามารถนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ตามกฎหมาย แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

          1. แพ หรือสิ่งก่อสร้างที่ลอยอยู่บนน้ำได้ โดยแพ หรือสิ่งก่อสร้างต้องมีลักษณะอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง และไม่มีโครงสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดของแพ หรือสิ่งก่อสร้างที่ลอยน้ำได้นี้ ยึดติดกับพื้นดินให้อยู่กับที่เป็นการถาวร ไม่ว่าจะเป็นพื้นดินใต้น้ำ หรือพื้นดินที่ต้องติดต่อกับทางน้ำ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                    1.1 จัดให้มีเครื่องลอยน้ำ หรือเสื้อชูชีพไม่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าพัก ในแต่ละห้องพัก โดยติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และมีป้ายแสดงจุดติดตั้งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

                    1.2 จัดให้มีเครื่องป้องกัน หรือราวกันตกโดยรอบอย่างมั่นคง และแข็งแรง

                    1.3 จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ

                    1.4 จัดให้มีเครื่องดับเพลิง ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด

                    1.5 กรณีที่มีร้านอาหาร และให้บริการอาหารในที่พักประเภทแพ ต้องจัดให้มีถังเก็บเศษอาหารขนาดไม่น้อยกว่า 40 ลิตร โดยจัดให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ถัง ต่อผู้พัก 30 คน

          2. สิ่งก่อสร้างที่ประกอบขึ้นโดยผ้าใบ เส้นใย หรือวัสดุแผ่นบาง เป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง ผนัง หรือหลังคา เช่น เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ

          3. ซากพาหนะที่นำมาดัดแปลง เพื่อเข้าอยู่อาศัย หรือใช้สอย เช่น รถ หรือส่วนพ่วงของรถ รถไฟ เครื่องบิน เรือ

          4. ชิ้นส่วนวัสดุสำเร็จรูป ที่นำมาประกอบ หรือติดตั้ง เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป
   
          5. สิ่งก่อสร้างที่อยู่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป โดยแขวน เกาะเกี่ยว ยึดโยงกับโครงสร้างธรรมชาติ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด เช่น ห้องพักบนต้นไม้ ห้องพักที่แขวนไว้กับเสา หรือเครน ห้องพักที่ยึด/โยง ไว้กับหน้าผา

ตามประกาศกฎกระทรวง กำหนดประเภท และหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566

กฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) นี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม จากเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญ 5 ประการ
          1. ข้อกฎหมายในกฎกระทรวงนี้ให้มีผลบังคับใช้หลังจากพ้น 60 วัน นับจากวันที่ประกาศ นั่นหมายความว่ากฎหมายฉบับแก้ไขใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
    
          2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม”
          จากเดิมที่กำหนดให้ที่พักไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้เข้าพัก ไม่เกิน 20 คน ไม่ถือว่าเป็นโรงแรมตามกฎหมาย มาตรา4 (3) แต่ฉบับนี้จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เป็น มีห้องพักไม่เกิน 8 ห้อง และมีจำนวนผู้เข้าพัก ไม่เกิน 30 คน ซึ่งการปรับปรุงข้อนี้ เป็นการสนับสนุน และให้ความสำคัญกับบ้านเก่า อาคารที่พักที่มีเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบเดิม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
           หากไม่แก้ไข จะส่งผลให้โรงแรมในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องทำการปรับปรุง/ดัดแปลงอาคาร เพื่อให้ผ่านเกณฑ์การขอใบอนุญาตตามข้อกำหนดเดิม ซึ่งจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมไป
          นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ที่จะใช้สถานที่ ที่ถูกระบุว่าไม่เป็นโรงแรม เพื่อจะให้บริการเป็นสถานที่พัก มีหน้าที่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนโรงแรมทราบ และนายทะเบียนโรงแรม จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ หากเห็นว่าเป็นไปตามข้อที่กำหนดไว้ ก็จะออกหนังสือรับแจ้งให้ภายใน 40 วัน และเมื่อใดไม่ประสงค์จะใช้สถานที่เพื่อให้บริการเป็นสถานที่พัก ก็สามารถแจ้งต่อนายทะเบียนโรงแรมเพื่อยกเลิกได้เช่นกัน

          3. การแจ้งขอหนังสือรับแจ้ง “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม” ให้ดำเนินการโดยทางอิเล็กทรอนิกส์(ออนไลน์)ตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสถานที่พัก ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อดำเนินการได้ที่ สำนักการสอบสวน และนิติกร กรมการปกครอง
ในกรณีสถานที่พัก ตั้งอยู่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อดำเนินการได้ที่ การปกครองอำเภอท้องที่ ที่สถานที่พักตั้งอยู่

          4. กำหนดหลักเกณฑ์โรงแรม 4 ประเภท มีความหมายดังต่อไปนี้

  • โรงแรมประเภท 1 หมายถึง โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก และมีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง
  • โรงแรมประเภท 2 หมายถึง โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก และห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับให้บริการอาหาร หรือประกอบอาหาร
    ในกรณีที่เป็นโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้อง และมีห้องพักจำนวนเกิน 50 ห้องขึ้นไป ให้จัดอยู่ในประเภทนี้
  • โรงแรมประเภท 3 หมายถึง โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร และสถานบริการ เช่น สปา ผับ บาร์ ฟิตเนส ฯลฯ
  • โรงแรมประเภท 4 โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร สถานบริการ และห้องประชุมสัมมนา      

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแยกประเภท โรงแรมประเภท 1 และ โรงแรมประเภท 2

           คำอธิบาย: โรงแรมประเภท 1 คือ โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก และโรงแรมประเภท 2 คือ โรงแรมที่ให้บริการทั้งห้องพัก และห้องอาหาร โดยในกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) นี้ ถูกปรับปรุงให้ โรงแรมประเภท 1 จะต้องมีห้องพักไม่เกิน 50 ห้องด้วย หากเกิน 50 ห้องจะถูกจัดเป็น โรงแรมประเภท 2
    
          5. สำหรับอาคารลักษณะพิเศษ ได้มีกฎกระทรวง กำหนดลักษณะ และระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ออกมาบังคับใช้แล้ว ซึ่งอาคารลักษณะพิเศษทั้ง 5 ประเภทนั้น สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้
          การจัดให้มีอุปกรณ์ล็อคห้องพักทั้งจากภายใน และภายนอก นอกจากนี้ยังกำหนดข้อยกเว้นเรื่องช่องมองจากภายใน สู่ภายนอกห้องพักสำหรับอาคารลักษณะพิเศษบางประเภท รวมถึงเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับห้องพักรวม เช่น ต้องมีห้องน้ำ ห้องส้วม และต้องจัดให้มีเลขประจำเตียงกำกับไว้ทุกเตียง เป็นตัวเลขอารบิก โดยให้แสดงไว้บริเวณที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

          ส่วนเพิ่มเติม มีการยกเลิกข้อกำหนดสำหรับโรงแรมประเภท 1 และโรงแรมประเภท 2 และข้อกำหนดบางประการสำหรับโรงแรมประเภท 3 และโรงแรมประเภท 4 เช่น ขนาดขนาดของห้องพัก ที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคาร สำหรับโรงแรมประเภท 3 และโรงแรมประเภท 4 เพิ่มข้อยกเว้นเพื่อให้โรงแรมที่มีห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง สามารถมีสถานบริการได้ หากโรงแรมนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ หรือเป็นสถานบริการตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509

หมายเหตุ: สถานบริการตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 คือ สถานบริการที่มี อาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใด เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24:00 น. 

อ้างอิง: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

          แถมอีกนิด^^ สำหรับ หลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงแรมที่ควรรู้

  1. ลักษณะของอาคารที่พัก ต้องเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หรืออาคารอื่นที่มีลักษณะ มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
  2. วัตถุประสงค์ของโรงแรม ต้องใช้เป็นที่พำนักของผู้เดินทาง หรือนักท่องเที่ยวโดยแท้ และไม่มีลักษณะ หรือพฤติกรรมอันส่อไปในทางแหล่งมั่วสุม หรือขัดต่อความเงียบสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี
  3. สถานที่ตั้ง ต้องไม่อยู่ใกล้สถานที่ราชการ สถานศึกษา วัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือโรงพยาบาล ในรัศมี 100 เมตร และต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม สะดวกแก่การตรวจตรา เส้นทางเข้า – ออก ต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการจราจร
  4. สถานที่จอดรถ ต้องมีเพียงพอสมดุลกับจำนวนห้องพัก โดยสถานที่จอดรถต้องแยกออกจากบริเวณห้องพัก ไม่ให้ปะปนกัน

คู่มือการขอใบอนุญาตโรงแรม (แบบ ร.ร. 2)

เอกสาร/หลักฐาน สำหรับขออนุญาตประกอบกิจการโรงแรม

กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
    (1) สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขอ
    (2) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอ
    (3) หนังสือมอบอำนาจติดอากรสแตมป์ และสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
    (4) แบบแปลน แผนผัง รายการประกอบที่วิศวกรและสถาปนิก ผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายลงชื่อรับรอง
    (5) สำเนาเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน
    (6) กรณีโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ยื่นสำเนาใบอนุญาต หรือมีใบรับรองการตรวจสภาพอาคาร
    (7) กรณีโรงแรมตั้งอยู่ในท้องที่ที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารใช้บังคับ ต้องได้รับใบรับรองการตรวจสภาพอาคารว่ามีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
    (8) แผนที่ตั้งโรงแรมโดยสังเขป
    (9) ภาพถ่ายอาคาร (กรณีขอดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร)
    (10) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานผลกระทบสิ่งแสดล้อมเบื้องต้น (IEE)

กรณีเป็นนิติบุคคล
    (1) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (นายทะเบียนรับรองไม่เกิน 3 เดือน นับถึงยื่นขออนุญาต)
    (2) สำเนาบัตรประชาชน (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล)
    (3) เอกสารเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาตามข้อ (3) – (7)

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์
  2. มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
  3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  4. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนคนไร้ความสามารถ
  5. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  6. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ เพศ / ยาเสพติด / ค้าหญิงและเด็ก / ค้าประเวณี
  7. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
  8. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเหตุอื่นที่ไม่ใช่เหตุตาม แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม 2565

       1. ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต
           โรงแรมประเภทที่ 1 ฉบับละ 10,000 บาท
           โรงแรมประเภทที่ 2 ฉบับละ 20,000 บาท
           โรงแรมประเภทที่ 3 ฉบับละ 30,000 บาท
           โรงแรมประเภทที่ 4 ฉบับละ 40,000 บาท
      2. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 200 บาท
      3. การต่อใบอนุญาต คิดอัตราค่าธรรมเนียมครึ่งหนึ่งจากค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต
      4. ค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาท ต่อห้องพัก

สถานที่ติดต่อ

จังหวัดกรุงเทพฯ ติดต่อส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 (ส่วนโรงแรม) สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง (วังไชยา)
ต่างจังหวัด ติดต่อที่ว่าการอำเภอที่โรงแรมนั้นตั้งอยู่

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย https://www.dopa.go.th/public_service/service_guide130/view133

 

สุดท้ายนี้ RoomScope #1โปรแกรมโรงแรม | ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบริหารที่พักขนาดเล็กทุกสไตล์ และระบบจองห้องพักของคนไทย หวังว่าบทความ กฎหมายก่อสร้างโรงแรม และรีสอร์ท นี้ จะพอเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนก่อสร้างธุรกิจที่พัก ซึ่งยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องศึกษาข้อมูล RoomScope ขอให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นสมความตั้งใจ 

ฝากเป็นกำลังใจ กดไลค์ กดติดตาม/แนะนำ เพจ RoomScope ระบบโรงแรม ด้วยนะครับ แล้วพบกับความรู้คู่โรงแรม บทความดีดี มีประโยชน์ได้อีกในโอกาสต่อไป ขอให้สุขภาพดี มีเงินเหลือกินเหลือใช้ กันทุกคนนะครับ