02-538-9089 (จ.-ส. 9-18 น.)

คู่มือชำระภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรม | ที่พักขนาดเล็ก ทุกสไตล์ อัปเดตล่าสุด 2567

5 เม.ย. 24

ภาษีสำหรับโรงแรม รีสอร์ท

          ภาษี หมายถึง เงินได้ ที่เก็บจากประชาชน เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(บุคคลผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี) และภาษีเงินได้นิติบุคคล(รายได้ที่เก็บจากธุรกิจในรูปแบบบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล)

          โรงแรม รีสอร์ท หรือ ธุรกิจที่พักแรม หมายถึง ธุรกิจสถานประกอบการ ที่ให้บริการที่พักพิงค้างแรมเป็นการชั่วคราว แก่นักท่องเที่ยว นักเดินทาง โดยแบ่งให้เข้าพักเป็นแบบห้อง หรือหลัง โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น หรืออาจรวมถึงบริการ อาหารและเครื่องดื่ม แก่นักเดินทาง แตกต่างกันไป เพื่อแลกกับสินจ้าง หรือเงินตอบแทน โดยคิดตามจำนวนคืนที่พัก และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ หากมีการใช้บริการที่นอกเหนือจากที่ ที่พักกำหนด

       ภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ มีหน้าที่ต้องเสียภาษี โดยแบ่งเป็น 8 ข้อ ดังนี้

  1. ค่าธรรมเนียมอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม (แบ่งเป็น 4 ประเภท RoomScope เคยอธิบายส่วนนี้ไว้แล้วรวมถึงการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ในบทความ >>> กฎหมายก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท)
     
  2. ค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม (ตามกฎกระทรวงฯแก้ไข ฉบับล่าสุด) คำนวณตามจำนวนห้องพักของโรงแรม ในอัตราห้องละ 40 บาท ต่อปี เช่น โรงแรมมีห้องพักจำนวนทั้งหมด 30 ห้อง ก็ 30×40 = 1,200 บาท ต่อปี โดยให้จ่ายพร้อมกับ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม โดยต้องชำระทุกปี ไม่เกินวันครบกำหนด ตามวันออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
     
  3. ภาษีป้าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ผู้เป็นเจ้าของป้าย หรือผู้ครอบครองป้าย(ภ.ป.1) ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หรือภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้งการประเมิน

       ในกรณี ที่มีการติดตั้งป้ายใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความของป้าย จะต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดตั้งป้ายใหม่ หรือวันที่เปลี่ยนแปลงข้อความของป้ายใหม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วถูกต้อง จะแจ้งการประเมิน และสามารถชำระภาษีในวันที่ยื่นแบบได้ เช่นกัน

อัปเดตอัตราค่าธรรมเนียมภาษีป้าย ประจำปี 2567

  • ป้ายประเภทที่ 1 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยล้วน ข้อความเคลื่อนไหวไม่ได้ อัตราค่าธรรมเนียม 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร หากข้อความเคลื่อนไหวได้ หรือเปลี่ยนข้อความได้ ให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมที่ 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
  • ป้ายประเภทที่ 2 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรภาษาไทย ปนกับอักษรภาษาต่างประเทศ หรือปนกับภาพ หรือเครื่องหมายอื่น ข้อความเคลื่อนไหวไม่ได้ อัตราค่าธรรมเนียม 26 บาท ต่อ 500 เซนติเมตร หากข้อความเคลื่อนไหวได้ หรือเปลี่ยนข้อความได้ ให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมที่ 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
  • ป้ายประเภทที่ 3 หมายถึง ป้ายที่ไม่มีอักษรภาษาไทย ไม่ว่าจะมีภาพ หรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม   

หรือ ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยบางส่วน หรือทั้งหมด อยู่ใต้ หรือต่ำกว่าอักษรภาษาต่างประเทศ ข้อความเคลื่อนไหวไม่ได้ จะถูกคิดอัตราค่าธรรมเนียม 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร หากข้อความเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนข้อความได้ ให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมที่ 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

  • ป้ายประเภทที่ 4 หมายถึง ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้าย ที่ได้เสียภาษีแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่ม ให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภท (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี และให้เสียเฉพาะส่วนที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมเท่านั้น

        **หมายเหตุ : ป้ายทุกประเภท หากคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้าอัตราค่าธรรมเนียมภาษีต่ำกว่า 200 บาท  ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมภาษีป้ายละ 200 บาท


         4. ภาษีที่ดิน ให้ยึดแนวทางการเสียภาษีตามเกณฑ์ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2567 ประเภทที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม โดยอัตราภาษีที่นำมาคำนวณตั้งแต่ 0.3-0.7% แบ่งตามมูลค่าของที่ดิน ดังนี้
       
    • ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
    • ที่ดินมูลค่า 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 200 ล้าน ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
    • ที่ดินมูลค่า 200 ล้าน แต่ไม่เกิน 1,000 ล้าน ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
    • ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้าน แต่ไม่เกิน 5,000 ล้าน ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
    • ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
      
        5. ภาษีเงินได้ เมื่อธุรกิจสถานประกอบการมีรายได้จากการให้บริการที่พักพิงค้างแรม หรือจากการขายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม หรือบริการเสริมต่าง ๆ เจ้าของมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามรูปแบบประเภทธุรกิจที่เลือก คือ ภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล 
       **หมายเหตุ: เงินได้ของธุรกิจสถานประกอบการโรงแรม และร้านอาหาร จัดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
       
        6. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในข้อนี้ หากธุรกิจสถานประกอบการมีการว่าจ้างแรงงาน พนักงาน และบุคลากรด้านต่างๆ ภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ คือ เมื่อมีการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าสวัสดิการต่างๆ กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่อส่งให้กับกรมสรรพากร 
       
        7. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีการประมาณการรายได้ของธุรกิจ มากกว่า 1,800,000ธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เข้าไปกับค่าบริการต่าง ๆ นั่นหมายความว่า ลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นผู้ชำระภาษี เจ้าของโรงแรมจำเป็นต้องออกใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดให้กับลูกค้าไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง 
       
        8. ค่าธรรมเนียมผู้พักในโรงแรม เป็นส่วนที่หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบ เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เรียกเก็บจากผู้เข้าพัก อาจจะรวมในค่าเช่าห้องพัก หรือเรียกเก็บเพิ่มเติมจากผู้เข้าพักก็ได้ เพื่อนำส่งแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดของแต่ละแห่ง ที่ธุรกิจสถานประกอบการนั้นตั้งอยู่ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่สามารถเรียกเก็บได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ของค่าเช่าห้องพัก ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษีส่วนอื่นๆ  

          เห็นได้ว่าความรับผิดชอบทางภาษีสำหรับธุรกิจนี้ เบี้ยใบ้รายทางที่ต้องจ่ายมีไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมครับ แต่หากคิดจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ก็ควรทำให้ถูกต้อง เพราะตามหน้าที่แล้ว รายได้ที่รับมา มาพร้อมกับส่วนรับผิดชอบด้านภาษีของเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว การวางแผนเรื่องภาษีสำหรับธุรกิจ จึงสำคัญไม่ต่างจากส่วนอื่นเลย แม้ช่วงแรกจะยุ่งยากหน่อย แต่เมื่อทำได้ครบ และเป็นระบบตั้งแต่แรก ปีต่อๆไปก็จะง่ายขึ้น แล้วจะทำให้เราดำเนินธุรกิจได้อย่างสบายใจ โปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ 

          แต่หากเราไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ วันใดวันหนึ่งโดนตรวจสอบขึ้นมา และโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง บางเคสถ้าไม่ได้เตรียมรับมือ หรือมีเงินสำรองไม่มากพอ อาจทำให้ธุรกิจที่คุณตั้งใจก่อร่างสร้างตัว ปลุกปั้นมาอย่างงดงาม ล้มละลายเลยก็เป็นได้  

RoomScope ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่พักทุกราย ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จ รับผิดชอบต่อสังคม แบ่งปันโอกาส สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และร่วมสร้างความมั่นคงทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ฝากติดตาม และเป็นกำลังใจ เพจ RoomScope ระบบโรงแรม ด้วยนะครับ เรามีความตั้งใจในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็ก ให้มีความมั่นคงทางธุรกิจ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มที่สาม เพื่อร่วมสร้าง EcoSystem ทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน